หากพูดถึงคำว่า "โรคจิต" แล้ว หลายคนอาจนึกภาพคนโรคจิตว่า ต้องมีอาการสับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง วกไปวนมา จำได้บ้างไม่ได้บ้าง หรืออาจจะอาละวาดคลุ้มคลั่งอะไรก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว "โรคจิต" มีด้วยกันหลายชนิด และแสดงอาการแตกต่างกันออกไป
อย่างเช่นที่เราเคยได้ยินข่าวคราวของคนที่เข้าใจว่า มีแมลงจำนวนมากไต่ออกมาจากผิวหนัง ทั้งที่ตรวจแล้วไม่พบ นี่ก็เป็นหนึ่งในอาการทางจิตเวชที่เรียกว่า "โรคจิตหลงผิด" เช่นกัน
วันนี้กระปุกดอทคอม จึงชวนมาทำความรู้จักกับ "โรคจิตหลงผิด" กันให้มากขึ้น เพราะเป็นอาการทางจิตเวชที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน และคนใกล้ตัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยรักษาผู้ป่วยโรคนี้ด้วย
โรคจิตหลงผิด หรือ Delusional Disorder เดิมเรียกว่า โรคหวาดระแวง (Paranoia หรือ Paranoid disorder) แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรคจิตหลงผิด" เพราะโรคนี้ไม่ได้มีแค่แสดงอาการหวาดระแวงเพียงอย่างเดียว แต่โรคจิตหลงผิดเป็นอาการที่ผู้ป่วยจะหลงผิดเป็นอาการเด่น โดยปักใจเชื่อบางสิ่งบางอย่างอย่างฝังแน่น โดยไม่ว่าจะมีหลักฐาน เหตุผล หรือคำชี้แจงใด ๆ ที่น่าเชื่อถือมาโต้แย้ง ผู้ป่วยก็ยังจะคงฝังใจเชื่อสิ่งนั้นอยู่
โดยเรื่องที่หลงผิดนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เช่น เชื่อว่าถูกคนกลั่นแกล้ง ปองร้าย จนไม่กล้าออกไปไหน หรือเข้าใจว่าคน ๆ นั้นไม่ชอบหน้า ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มีเรื่องเช่นนี้ หรืออาจเข้าใจว่าตัวเองกลับชาติมาเกิด ตัวเองเป็นดาราคนนั้น เจ้าหญิง เจ้าชายบ้างก็มี นอกจากนี้ ยังอาจมีความเข้าใจผิดที่แปลก ๆ เช่น เชื่อว่ามีคลื่นไฟฟ้าส่งมาจากคนบางคนเพื่อทำร้ายให้ตนเองป่วย หรือเชื่อว่าตนเองท้องได้หลายเดือนทั้ง ๆ ที่ท้องไม่ได้โตขึ้นกว่าปกติ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคจิตหลงผิดนี้ ส่วนใหญ่จะมีการพูดจาท่าทางปกติ ไม่มีพฤติกรรมแปลก ๆ แสดงออกชัด เพราะยังสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างปกติ จึงยากต่อการสังเกต แต่บางครั้งอาจมีพฤติกรรมไม่เข้าสังคม หูแว่ว ระแวง ไม่เป็นมิตร และอาจมีพฤติกรรมรุนแรงต่อความเชื่อของตัวเองด้วย
ทั้งนี้ โรคจิตหลงผิด มักเกิดกับช่วงวัยกลางคน จนถึงวัยสูงอายุ แต่ก็พบได้ในวัยรุ่นตอนปลายเช่นกัน โดยรวมแล้ว โรคจิตหลงผิด เป็นโรคที่พบได้น้อย คือประมาณ 0.025-0.03 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเท่านั้น แต่มักป่วยเป็นเรื้อรัง คือหายแล้วแต่ยังมีอาการอยู่บ้างเป็นระยะ ๆ และมีจำนวนหนึ่งที่หายขาด
โรคจิตหลงผิด สามารถแบ่งจำแนกได้อีกหลายประเภทคือ
การวินิจฉัยสาเหตุของโรคจิตหลงผิดยังไม่แน่ชัด เนื่องจากผู้ป่วยโรคหลงผิดมักไม่ค่อยไปพบแพทย์ ทำให้ได้รับการวินิจฉัยเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่มีอยู่จริง ส่วนผู้ที่มาพบแพทย์ ก็มักเป็นผู้ป่วยที่หลงผิดทางร่ายกายเสียมากกว่า แต่ก็ยังพอสรุปสาเหตุที่น่าจะทำให้เกิดโรคจิตหลงผิดได้คือ
พบว่าคนที่ป่วยเป็นโรคจิตหลงผิด เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูในช่วงวัยเด็ก ในลักษณะที่ทำให้ขาดความไว้วางใจต่อโลกภายนอก
มักพบโรคนี้ในกลุ่มผู้อพยพ หรือกลุ่มที่ต้องพบกับสภาวะต่าง ๆ ที่มีความเครียดสูง และชนชั้นที่มีเศรษฐฐานะต่ำ
เกิดจากสารสื่อประสาทในสมอง หรือ สารโดปามีน ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน ได้ฟัง มีมากเกินไป ทำให้ไม่สมดุล ซึ่งจะเกิดอาการหูแว่ว ตีความหมายผิด ๆ คิดว่าคนจะทำร้ายตัวเอง อย่างเช่น คนที่เสพยาบ้ามาก ๆ ก็จะมีสารโดปามีนมาก และมักมีอาการหวาดระแวงกลัวคนจะมาฆ่า มาทำร้าย
เนื่องจากอาการหลงผิด เกิดได้จากสาเหตุหลาย ๆ อย่าง เช่น โรคบางอย่างอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหลงผิด คล้ายกับโรคจิตหลงผิด หรือผู้ป่วยที่มีอารมณ์แปรปรวนก็อาจมีอาการหลงผิดร่วมด้วย ทั้งที่ไม่ได้เป็นโรคจิตหลงผิดก็ได้ ดังนั้นจึงต้องให้แพทย์วินิจฉัยว่า ป่วยเป็นโรคจิตหลงผิดหรือไม่ หรืออาจจะเป็นแค่เพียงอาการหวาดระแวง วิตกกังวลธรรมดา ๆ
การรักษาจะเน้นให้ผู้ป่วยปรับตัวอยู่ในสังคมได้ พร้อม ๆ กับการให้ยารักษาโรคจิต ซึ่งต้องทานต่อเนื่อง อาจจะ 6 เดือน หรือ 1 ปี จนกว่าอาการจะดีขึ้น และแพทย์จะค่อย ๆ ลดยาลงไปเรื่อย ๆ แต่หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเอง หรือทำอันตรายต่อผู้อื่น ก็ควรจะให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นอาการป่วยทางจิตเวช ดังนั้น ครอบครัวบำบัด (Family Therapy) จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคนี้ได้ โดยคนใกล้ตัวต้องรับฟังผู้ป่วย ไม่โต้แย้งสิ่งที่ผู้ป่วยคิดว่าเป็นจริง แต่ก็ไม่เข้าข้าง หรือสนับสนุนความคิดหลงผิดนั้นด้วย เพื่อให้ครอบครัวยอมรับผู้ป่วยได้ และผู้ป่วยก็มีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น
แต่หากเห็นคนใกล้ตัวมีท่าทาง การพูดจาแปลก ๆ ไม่เหมือนเดิม และมีอาการเข้าข่ายข้างต้น ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า เขาเป็นโรคจิต ต้องค่อย ๆ พูดอ้อม ๆ ชวนให้ไปพบจิตแพทย์ โดยอาจพูดทำนองว่า หากมีปัญหากลุ้มใจให้ลองไปปรึกษาจิตแพทย์ดู อย่าบอกตรง ๆ ว่าเขาเป็นโรคจิต เป็นบ้า เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการต่อต้านแน่นอน ซึ่งทั้งที่จริงแล้ว บางคนอาจเป็นเพียงแค่วิตกกังวลธรรมดาเท่านั้น
สำหรับครอบครัวของผู้ป่วยอาการทางจิตนั้น ลองประยุกต์วิธีการดูแลผู้ป่วยด้วยการใช้ความคิดเชิงบวก ตามคำแนะนำของ นพ.จอม ชุมช่วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้ก่อตั้งมีรักคลินิก Merak Clinic คลินิกเฉพาะทางจิตเวชอย่างครบวงจรสำหรับเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว ที่เคยพูดไว้ในงาน Ignite Thailand ปลุกพลังบวก เปลี่ยนประเทศไทย ว่า ครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่ ควรสร้างพลังบวกกับให้ลูก โดยคนใกล้ตัวต้องคิดบวกเป็นตัวอย่างที่ดีก่อน แล้วที่สำคัญคือต้องรับฟังเขาอย่างมีสติ จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น
เช่นนั้นแล้ว ครอบครัว จึงมีส่วนสำคัญต่อการรักษาอาการผิดปกติทางจิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ดังนั้น หากพบว่าพฤติกรรมของคนใกล้ชิดผิดปกติ เปลี่ยนแปลงไป ควรแนะนำให้รีบไปพบจิตแพทย์ เพราะโรคทางจิตเวชนี้ยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ ยิ่งเกิดผลดีที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น