Blogger นี้มีไว้ใช้สำหรับการเรียนวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

ฟังดนตรีเถิดชื่นใจ-บรรเทาปวดเรื้อรัง


      

            บีบีซีนิวส์ - นักวิจัยยืนยันการฟังเพลงก่อเกิดผลดีในแง่ของอาการเจ็บปวดเรื้อรัง แม้ยังมีผู้รู้แย้งว่า ดนตรีอาจเพียงช่วยหันเหความสนใจของผู้ป่วยจากอาการเจ็บปวดชั่วคราวก็ตาม
        นักวิจัยอเมริกันทดสอบผลของดนตรีต่อผู้ป่วย 60 คนที่มีอาการปวดเรื้อรังแรมปี และพบว่าผู้ที่ฟังเพลงมีอาการปวดลดลง 21% และอาการซึมเศร้าที่เกิดจากความเจ็บปวดลดลง 25% ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ฟังเพลง

ผลศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารเจอร์นัล ออฟ แอดวานซ์ เนิร์สซิง ยังพบว่าดนตรีช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงความไร้ความสามารถของตัวเองน้อยลง

ผู้ป่วยในโครงการศึกษานี้ถูกคัดเลือกมาจากคลินิกระงับปวดและคลินิกจัดกระดูก ซึ่งเป็นผู้ป่วย อาทิ โรคข้อเสื่อม และโรคปวดข้อรูมาตอยด์ มาเป็นระยะเวลา 6 ปีครึ่งโดยเฉลี่ย และส่วนใหญ่มีอาการปวดร่างกายมากกว่าหนึ่งจุดและปวดเรื้อรัง

นักวิจัยจัดให้ผู้ป่วยบางคนฟังเพลงจากหูฟังทุกวันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ขณะที่คนอื่นๆ ที่เหลือไม่ได้ฟังเพลงเลย

นอกจากนั้น ในบรรดาผู้ป่วยที่ฟังเพลง ครึ่งหนึ่งสามารถเลือกเพลงที่ชอบ อีกครึ่งหนึ่งเลือกเพลงฟังสบายๆ จากเทป 5 ชุดที่นักวิจัยจัดไว้ให้

“ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า การฟังเพลงส่งผลอย่างมากต่อกลุ่มทดลองสองกลุ่ม ในแง่ของการลดความเจ็บปวด ความซึมเศร้า และความด้อยความสามารถ อีกทั้งช่วยเสริมสร้างพลังและกำลังใจ” ดร. แซนดรา ซิดเล็กกิ จากคลีฟแลนด์ คลินิก ฟาวน์เดชัน กล่าวและว่า

“มีความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างสองกลุ่มที่ได้ฟังเพลง แต่ทั้งสองกลุ่มต่างมีอาการดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฟังเพลงเลย

“ความปวดที่ไม่ใช่โรคมะเร็งยังคงเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญ และยาไม่สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดนี้ได้ ดังนั้น หากมีสิ่งใดที่สามารถบรรเทาความเจ็บปวดได้จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วย” ศาสตราจารย์มาเรียน กู๊ด ที่ร่วมศึกษาในโครงการนี้ด้วย เสริมว่า “การฟังเพลงแสดงให้เห็นแล้วว่า ทำให้เกิดประโยชน์มากมาย และการวิจัยของเราช่วยตอกย้ำว่า ดนตรีมีบทบาทสำคัญต่อสุขอนามัยยุคใหม่” อนึ่ง การวิจัยก่อนหน้านี้ที่ตีพิมพ์ในวารสารฉบับเดียวกันพบว่า การฟังเพลงสบายๆ 45 นาทีก่อนนอน ช่วยทำให้หลับเป็นสุขขึ้นกว่าเดิมกว่า 1 ใน 3

อย่างไรก็ตาม ดร. เคที สแตนนาร์ด เลขาธิการกิตติมศักดิ์ของบริติช เพน โซไซตี้ กล่าวว่า แม้ผลการศึกษาจากสถาบันหลายแห่งแสดงให้เห็นว่า ดนตรีทำให้เกิดผลดีต่อผู้ที่มีอาการเจ็บปวด กระนั้น ผลที่เกิดขึ้นอาจเล็กน้อย และน่าสงสัยว่าจะเป็นเพียงผลระยะสั้นเท่านั้น

“ความเจ็บปวดเป็นเรื่องซับซ้อนมาก และอยู่ใต้อิทธิพลจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น อารมณ์ ประสบการณ์ และสภาพจิตใจ หากดนตรีทำให้คุณผ่อนคลาย ก็อาจหวังได้ว่าจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ด้วย” ดร. สแตนนาร์ดสำทับว่า มีความเป็นไปได้ที่ดนตรีอาจเพียงหันเหความสนใจของผู้ป่วยจากความเจ็บปวดชั่วคราวเท่านั้น

เธอเสริมว่า ไม่ได้เป็นเรื่องประหลาดใจแต่อย่างใดที่บ่อยครั้งยามีผลเพียงจำกัดต่อปรากฏการณ์ที่ซับซ้อน เช่น ความเจ็บปวด

“เราต้องเริ่มคิดนอกกรอบกันได้แล้ว”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น